ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า โฉมหน้าอนาคต

รถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาคันแรกมาวิ่งใน กทม.แล้ว ปตท.เปิดให้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่ ถนนชัยพฤกษ์ กระทรวงพลังงานก็ได้ประกาศอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับการชาร์จรถไฟฟ้าทันทีเหมือนกัน โดยกำหนดให้กลางวันราคา 6 บาท/หน่วย กลางคืน 2.6 บาท/หน่วย (ก็คือส่งเสริมให้ไปชาร์จตอนกลางคืนนั่นเอง)

ปัจจุบัน ปตท.ได้ตั้ง Charging Station แล้ว 4-5 แห่ง ซึ่งเป็นสถานีเพื่อการทดลองในพื้นที่กรุงเทพฯ ชลบุรี วังน้อย และระยอง ขณะที่มีเป้าหมายจะเปิดดำเนินการทั้งหมด 21 แห่ง

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่มี PEA Volta Platform โครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถไร้คนขับ มีแผนจะติดตั้งสถานีทั้งหมด 11 สถานีตามเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญ (มีเสร็จไปบ้างแล้ว) แบ่งเป็นที่สำนักงานใหญ่ กฟภ.1 สถานี พระนครศรีอยุธยา 1 สถานี หัวหิน 3 สถานี พัทยา 2 สถานี โคราช 2 สถานี และนครปฐม 1 สถานี

ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) คือรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เป็นเชื้อเพลิง รถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศกำลังเผยแพร่ขึ้นเรื่อยๆ โดยหลายๆ รัฐบาลได้ประกาศยุติสนับสนุนรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในหรือรถที่ใช้น้ำมันทั้งหมด เป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้หันมาใช้รถไฟฟ้าแทน

มาดูไทม์ไลน์ระยะเวลาตามนโยบายของแต่ละประเทศที่จะให้รถอีวีเป็นรถพลังงานหลักของประเทศแบบ 100% กันดังนี้ 1.เยอรมนี ปี 2030 2.ฝรั่งเศส ปี 2040 3.อังกฤษ ปี 2040 4.นอร์เวย์ ปี 2025 5.จีน ปี 2030 6.ญี่ปุ่น ปี 2030 7.อินเดีย ปี 2030

เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Clean Disruption คือการเปลี่ยนแปลงซึ่งทำลายเทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรมเดิมโดยสิ้นเชิง เนื่องจากของใหม่ดีกว่า ประหยัดกว่าอย่างเทียบกันไม่ติด สำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าความต้องการรถไฟฟ้าในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงปี 2020-2030 รถใหม่จะเป็นรถไฟฟ้าเกิน 20-30%

ล่าสุดในปี 2061 รัฐบาลไทยอนุมัติบริษัทแบรนด์รถยนต์ โตโยต้า นิสสัน มาสด้า ฮอนด้า เข้าแพ็กเกจรถยนต์ประเภทไฮบริด วงเงินลงทุน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยประเทศไทยจะใช้รถพลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle : HEV) หรือไฮบริดเป็นตัวเปลี่ยนผ่านไปยังรถไฟฟ้าในปี 20xx เนื่องจากไทยยังไม่พร้อมทั้งผู้บริโภคและสถานีชาร์จประจุที่ครอบคลุม

แผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ โดยช่วงนี้อยู่ในการทำงานระยะที่ 1 ระหว่างปี 2559-2560 เป็นขั้นของการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายการขออนุญาตและการสนับสนุนการวิจัยเรื่องแบตเตอรี่ โดยเน้นนำร่องกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ (ขสมก.) 200 คัน และรถเฉพาะ รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านสถานี Charging Station และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ระยะที่ 2 ปี 2561-2563 ดำเนินการเชิงวิจัยอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทั้งเรื่องสมรรถนะแบตเตอรี่ มอเตอร์ รวมทั้งเพิ่มจำนวนรถและจุด Charging Station ให้เพียงพอ

ระยะที่ 3 ปี 2564-2578 เป็นช่วงขยายผลการศึกษาให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ และระยะสุดท้ายระยะที่ 4 ปี 2579 เป็นต้นไป คาดหวังว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาแทนที่รถน้ำมันได้อย่างเต็มที่

เมกะเทรนด์ ยานยนต์ไฟฟ้า

รายงานทีดีอาร์ไอ ฉบับที่ 129 เดือน มิ.ย. 2560 ซึ่งสรุปการสัมมนาสาธารณะเรื่อง “ขับเคลื่อนสู่ยานยนต์ยุคใหม่ ประเทศไทยจะไปทางไหน” (Driving to the next generation automotive : Where are we heading to?) นำเสนองานวิจัยเรื่อง “ทิศทางยานยนต์ยุคใหม่ในประเทศไทย : ประเด็นด้านนโยบายที่สำคัญ” โดย ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ สุนทร ตันมันทอง และภวินทร์ เตวียนันท์

การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียานยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเชื้อเพลิงสู่พลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) รถยนต์ประเภทไฮบริด (Hybrid) และรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง (FCV) รัฐบาลไทยได้ผลักดันรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในฐานะยานยนต์ยุคใหม่ (Next Generation Automotive) ภายใต้นโยบาย Thailand Industry 4.0 เพื่อก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทย ยังคงตั้งคำถามเกี่ยวกับทิศทางดังกล่าวและผลกระทบที่จะตามมา

รายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทิศทางยานยนต์ยุคใหม่แห่งอนาคตในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดในแต่ละประเด็นสรุปได้คือ เมกะเทรนด์ (Mega Trend) ยานยนต์ยุคใหม่แห่งอนาคต จากข้อมูลของ International Council on Clean Transportation พบว่าแนวโน้มยานยนต์ยุคใหม่แห่งอนาคตในระดับโลกโดยสรุปมี 2 กระแสหลัก ดังนี้

l เมกะเทรนด์ I : ยานยนต์ยุคใหม่แห่งอนาคตจะต้องประหยัดพลังงานมากขึ้น และปล่อยมลภาวะลดลง เห็นได้ชัดเจนจากแนวโน้มการใช้มาตรการด้านประสิทธิภาพพลังงานที่มีความเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมาตรการที่ใช้กันแพร่หลายทั่วไปคือมาตรการ CAFE (Corporate Average Fuel Efficiency) ซึ่งเป็นเกณฑ์สำหรับควบคุมการนำเข้ารถยนต์โดยดูจากค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานยนต์จากบริษัทรถยนต์แต่ละราย

จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าแต่ละประเทศได้กำหนดค่ามาตรการ CAFE สูงขึ้นทุกปี และมีข้อมูลบ่งชี้ว่าในปี 2020-2050 หลายประเทศได้กำหนดค่ามาตรการ CAFE สูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้มาตรการ CAFE อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดส่งออกรถยนต์ของไทย ซึ่งหากประเทศไทยยังไม่มีการปรับตัวที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปัจจุบันอย่างแน่นอน

l เมกะเทรนด์ II : ซอฟต์แวร์และเซ็นเซอร์ จะเป็นชิ้นส่วนใหม่ในทุกเทคโนโลยีการขับเคลื่อน นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวแล้ว แนวโน้มหลักสำคัญอีกประการของยานยนต์ยุคใหม่คือ ยานยนต์ที่มีการพัฒนาจนเป็นยานยนต์ที่เชื่อมต่อและสามารถสนับสนุนการขับให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งชิ้นส่วนที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเชื่อมต่อและสนับสนุนการขับดังกล่าวก็คือซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ พบว่ากว่าร้อยละ 90 ของนวัตกรรมด้านยานยนต์และชิ้นส่วนในปี 2012 เกี่ยวข้องกับ Information Technology (IT) ซอฟต์แวร์ และอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน Active Safety และ Infotainment

ดังนั้น จึงมีความชัดเจนว่าซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นมูลค่าเพิ่มใหม่ในการผลิตรถยนต์ในอนาคต และมีนัยต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่อย่างสำคัญ ลักษณะของยานยนต์ยุคใหม่จะมีองค์ประกอบ ซึ่งรวมลักษณะเด่นของแนวโน้มหลักจากเมกะเทรนด์ I และเมกะเทรนด์ II ดังนี้

(1) ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีประสิทธิภาพสูง (Energy-efficient Internal Combustion Engine : ICE) (2) มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูง (3) ปล่อยมลพิษน้อย เช่น มีอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 (กรัม/กม.) ในระดับต่ำ (4) มีระบบซอฟต์แวร์และเซ็นเซอร์เพื่อเชื่อมต่อการสื่อสาร เช่น ระบบ ride-sharing (5) มีระบบซอฟต์แวร์และเซ็นเซอร์สนับสนุนการขับ เช่น ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ

ดังนั้น นิยามของยานยนต์ยุคใหม่แห่งอนาคต (Next Generation Automotive) จากการประมวลข้อมูลลักษณะยานยนต์ยุคใหม่ เทคโนโลยี และประเภทเครื่องยนต์ที่มีใช้ในปัจจุบัน รวมทั้งรถยนต์ที่อยู่ระหว่างการทดลองและพัฒนาแล้ว สามารถสรุปภาพรวมยานยนต์ยุคใหม่แห่งอนาคตได้เป็น 5 ประเภท (1) รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีประสิทธิภาพ (ICE) (2) รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicles : HEV) (3) รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicles : PHEV) (4) รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles : BEV) และ (5) รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Vehicle : FCV)

รายงานการวิจัยยานยนต์ไฟฟ้าของไทยวางไกลถึงปี 2573

ข้อมูลที่น่าสนใจของรายงานการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม ฉบับสมบูรณ์ เรื่อง “การศึกษาการพัฒนาของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและผลกระทบที่เกิดขึ้นสำหรับประเทศไทย” (Assessment of Electric Vehicle Technology Development and Its Implication in Thailand) ที่เสนอฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย ด้านบริหารจัดการการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุน โปรแกรมร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา กฟผ.-สวทช. จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ซึ่งมีหัวหน้าโครงการ คือ ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล วิจัยตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2555-31 พ.ค. 2556 และฉบับปรับปรุง 8 ก.พ. 2558

งานวิจัยเชิงนโยบายเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและผลกระทบจากการขยายตัวของเทคโนโลยีดังกล่าวในภาคขนส่งของประเทศไทย โดยเน้นไปภาคส่วนของรถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในปี 2573