“ฝนหลวง” ได้ผล ลดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศได้ดี

รัฐบาลสั่งเร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เผยฝนหลวงได้ผล ช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศในหลายพื้นที่ โดยจะทำฝนหลวงไปจนถึงวันที่ 19 ม.ค. กำชับทำต่อเนื่องควบคู่มาตรการอื่น

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และวางแผนระยะยาว เพื่อป้องกันปัญหาด้วยนั้น

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ออกปฏิบัติการทำฝนหลวงเมื่อวานนี้ ปรากฏว่าตั้งแต่เวลา 15.00 น. ได้เกิดฝนตกบริเวณเขตพญาไท ประเวศ บางกะปิ ห้วยขวาง และบางส่วนของ จ.นนทบุรี และปทุมธานี ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่า ฝนที่ตกลงมาเป็นผลจากปฏิบัติการฝนหลวง เพราะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ และเมื่อตรวจสอบค่าฝุ่นละอองในอากาศก่อนและหลังทำฝนหลวงร่วมกับกรมควบคุมมลพิษพบว่า ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น เขตบางขุนเทียน ลดลงจาก 82 เหลือ 72 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. เขตพญาไท ลดลงจาก 53 เหลือ 43 เขตพระนคร ลดลงจาก 74 เหลือ 65 ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ. สมุทรสาคร ลดลงจาก 66 เหลือ 60 เป็นต้น

โดย นายกฯ ได้กำชับให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเป็นปกติ พร้อมทั้งสั่งการให้ใช้มาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น ควบคุมรถโดยสารที่ปล่อยควันดำ ฉีดละอองน้ำ ล้างถนน ฯลฯ เพื่อให้ปัญหาคลี่คลายโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เพราะจะทำให้การรับมือกับปัญหาเห็นผลเป็นลำดับ

ขณะที่ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งทำฝนหลวงทุกวันจนถึงวันที่ 19 ม.ค. เพื่อลดวิกฤติจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนใน กทม. ให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมระบุว่า สภาพอากาศเอื้ออำนวยในการทำฝนหลวง

จึงกำชับนักวิทยาศาสตร์และนักบินช่วงชิงจังหวะเวลาที่เหมาะสมและใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อสร้างเมฆ โดยคาดหวังว่า หากฝนตกลงในพื้นที่ กทม. จะจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีปริมาณมากให้ลงมายังผิวพื้น ลดมลพิษ จากนั้นช่วงบ่ายจะติดตามสภาพอากาศอีกครั้ง หากเอื้ออำนวยจะขึ้นปฏิบัติการต่อเนื่อง โดยหากสภาพอากาศยังเป็นเช่นนี้ คือ ความชื้นสูงและทิศทางลมเหมาะสม